Skip to main content

คำหยาบ กับ "ความจริงใจ"

หมู่นี้เจอคนที่มีความคิดแปลกเยอะ วันนี้เลยได้เอนทรี่ที่เกิดขึ้นจากความตะหงิดใจเกี่ยวกับตรรกะแปลกๆของคนมาอีกหนึ่งเอนทรี่
 
จริงๆแล้วความคับข้องใจที่จะระบายในเอนทรี่นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ได้พบเจอมานานมาก เรียกได้ว่าพบเจอมาตลอดเวลา ตลอดชีวิตเลยก็ได้
 
นั่นคือการใช้ "คำหยาบ" ในชีวิตประจำวัน
 
จำได้ว่าสมัยเป็นเด็ก ถูกเลี้ยงและเติบโตมากับปู่ย่าตายาย ผู้สูงอายุในครอบครัวสอนไว้นักหนาว่า "เป็นลูกผู้หญิงจะพูดจะทำอะไรก็ต้องระวังกิริยามารยาท ทั้งเดินเหิน นั่งนอน และที่สำคัญก็คือการพูดให้ระวังให้หนัก"
 
เราไม่ใช่เด็กเรียบร้อย อยู่บ้านก็เล่นซนปีนป่ายทำข้าวของเสียหายตามประสาเด็ก หลายครั้งที่โดนขนาบเรื่องกิริยามารยาท แต่ไม่ว่าจะทำอะไร จะซนแค่ไหน พอผู้ใหญ่เอือมก็ปล่อยๆเสียบ้าง
 
จะมีก็เรื่องเดียวที่ผู้ใหญ่ในบ้านไม่เคยปล่อยให้ผ่านเลยก็คือ การพูดคำหยาบ
 
คำจำกัดความของคำหยาบในครอบครัวเรากำหนดมาตรฐานไว้สูงพอสมควร นั่นคือตั้งแต่คำว่า กู มึง ข้า แก ไอ้ ไปจนถึงคำสบถต่างๆ อย่างคำประเภท "อุบาทว์" "ชิบหาย" ... ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคำประเภทสารพัดสัตว์ต่างๆ หรือสารพัดคำด่าคำหยาบที่มีอยู่ในภาษาไทยจะถูกห้ามใช้ในครอบครัวเป็นข้อหนัก
 
ถ้าได้ยินจะถูกทำโทษยิ่งกว่าแกล้งน้อง หรือทำข้าวของเสียหาย
 
จำได้ว่าตอนเรียนประถมเคยติดคำหยาบมาจากเพื่อนที่โรงเรียน เห็นเขาพูดกันเลยจำมาพูดบ้าง วันนึงขัดใจน้อง ด่าออกไปว่า "ไอ้สัตว์" ผลที่ได้คือถูกตีด้วยก้านมะยมทั้งมัดแบบไม่นับ ที่หนักสุดคือพ่อเอาพริกขี้หนูสวนทั้งเม็ดยีปาก
 
เผ็ด แสบ ร้อน จนจำได้ว่าร้องไห้ลั่นบ้านเพราะกลัวไม้เรียวและจำพริกขี้หนูเม็ดนั้นไปจนตาย
 
จำได้ว่าตอนนั้นหลังจากร้องไห้จนจะขาดใจ(แต่ไม่มีใครปลอบ) พอเงียบได้สติแล้ว ย่าก็เรียกไปคุยด้วย
 
"คำหยาบถือเป็นคำต่ำ เป็นคำไม่เป็นมงคลทั้งต่อคนพูดและคนฟัง เหมือนเราถืออาจมไว้ในมือแล้วก็เที่ยวเอาไปป้ายคนอื่นเขา คนที่พูดคำหยาบเป็นนิจก็เหมือนคนที่มีกลิ่นอาจมติดตัว ต่อให้หน้าตาสวย มาจากชาติตระกูลดีอย่างไรก็ไม่อยากมีใครคบ ไม่อยากมีใครเข้าใกล้"
 
และ
 
"มนุษย์เรามีเทวดาคุ้มตัว มีมงคลเป็นที่เกราะ ที่จะคุ้มครองจิตใจที่ดีงาม จิตใจเป็นกำเนิดของความคิด ของคำพูด ถ้าเราพูดสิ่งไ่ม่เป็นมงคล สิ่งต่ำ แสดงว่าเรามีความคิดต่ำ และมีจิตใจต่ำด้วย เมื่อมีจิตใจต่ำ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไม่อยากรักษา ทำให้เกิดความอัปมงคลแก่ตัวเอง"
 
นี่คือคำสอนที่ย่าบอกเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว และเป็นคำที่ย่าย้ำเสมอว่า "อย่าพูดคำหยาบ"
 
ที่บ้านเราไม่มีใครพูดคำหยาบ ไม่ใช่แค่ปู่ ย่า แม้แต่พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา ทุกคนในบ้านก็ไม่มีใครพูดคำหยาบ ผู้ใหญ่ในบ้านที่เป็นผู้ชาย แม้จะทำงานรับเหมาก่อสร้างคลุกคลีกับคนงานก็ไม่มีใครพูด
 
แต่เมื่อโตขึ้น ชีวิตที่อยู่นอกบ้านมากกว่า ไปโรงเรียน อยู่กับเพื่อน เจอคนมากขึ้น เห็นอะไรมากขึ้น ทำให้สิ่งที่เป็นข้อห้ามเริ่มกลายเป็นเรื่องธรรมดา จากที่คิดว่าการพูดคำหยาบเป็นความผิดร้ายแรงก็กลายเป็นเริ่มมองด้วยความ รู้สึกเฉยๆมากขึ้นว่า เออ....ใครๆเขาก็พูดกัน
 
เมื่อเริ่มคุ้นเคยกับคำหยาบ ทำให้บางครั้งเมื่อเผลอตัวก็มีคำหยาบหลุดจากปากบ้าง แต่หลังจากหลุดไปได้ครึ่งคำก็จะนึกได้และพยายามระวัง โดยถือว่าที่พูดไปนั้นเกิดจากความพลั้งเผลอของสัญชาติญาณด้านมืด
 
ถึงจะคุ้นเคยกับคำหยาบพอสมควร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ตะขิดตะขวงเวลาพูด ถ้าเผลอตัวก็แล้วไป แต่ถ้าให้ตั้งใจพูดแบบใส่เป็นส่วนหนึ่งของประโยคทุกครั้งอย่างที่ได้ยินจาก หลายๆคนก็ทำไม่ได้ บางครั้งเมื่อได้ยินคนรอบตัวสนทนากันชนิดที่ต้องใส่สัตว์ทั้งป่า หรือขุดพ่อแม่เทือกเถาเหล่ากอของอีกฝ่ายมานั่งคุยด้วยอย่างหน้าตาเฉยก็ยังอด รู้สึกสะดุ้งไม่ได้
 
สมัยก่อนนี้ คำหยาบคือคำด่า  ใช้พูดจาจิกหัวคนที่ต่ำกว่า หรือไม่ชอบขี้หน้า หรือขัดอกขัดใจกัน
แต่สมัยนี้ คำหยาบกลายเป็นคำเสมอคำปกติที่หยิบใช้ได้ทุกเวลาทุกโอกาสไม่ว่าจะกับมิตรหรือศัตรู
 
จะพูดกับเพืื่อน หรือจะด่าคนไม่ชอบหน้าก็ใช้ภาษาเดียวกันหมด
 
เมื่อมาเป็นครูบาอาจารย์ ความที่อดไม่ได้ก็จะดุนักเรียนทุกครั้งที่ได้ยินคำหยาบในชั้น ไม่ต้องมากมาย แค่ "ไอ้เหี้ย ส่งงานให้กูหน่อย" หรือ "พ่อง เห็นมั้ยว่ามันผิดอะสัด" ก็จะต้องหันไปดุทุกครั้ง
 
"พูดจากับเพื่อนให้ดีๆหน่อย ไปเรียกจิกเขาแบบนั้น เขาเป็นคนใช้เธอเมื่อไหร่"
คำตอบที่ได้รับคือการทำหน้างงๆ คล้ายๆว่าอาจารย์จะดุทำไม แล้วก็ตอบว่า
"ก็พูดกันแบบนี้ทุกทีแหละจารย์ ไม่เห็นแปลก เพื่อนกันไม่คิดไร"
"เพื่อนกันก็พูดกันดีๆไม่ได้รึไง ทำไมต้องพูดคำด่าคำตลอด"
"พูดแบบนี้สนิทดีออกจารย์ ตรงๆ จริงใจ ไม่ต้องคิดมาก"
 
คำตอบที่ได้รับจากนักเรียนทำให้ต้องสะดุดคิด
 
เมื่อไหร่กันที่ "คำหยาบ" แสดงถึง "ความจริงใจ"?
 
ถ้ามองด้วยตรรกะแบบนั้น แสดงว่าคนเราจะจริงใจต่อกันไม่ได้เลยหรือถ้าไม่ใช้คำหยาบ
แสดงว่าคนที่พูดจาให้เกียรติคนอื่นเป็นคนหลอกลวง สร้างภาพ จอมปลอมอย่างนั้นหรือ?
 
จำได้ว่าในสมัยเปลี่ยนแปลงประเทศช่วงสงครามโลก ท่านผู้นำของประเทศไทยคิดนโยบายสร้างวัฒนธรรมของชาติ ทั้งให้ใส่เสื้อก่อนออกจากบ้าน สวมหมวก และพูดจาแทนตัวว่า ฉัน เธอ ท่าน แล้วลงท้ายด้วย คะ ครับ
เมื่อเวลาผ่านมา นโยบายนั้นก็ถูกลืมเลือนไปตามการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังไม่เคยได้ยินว่ามีนโยบายใหม่หรือแนวคิดใหม่ว่าการพูดคำหยาบเป็นการ แสดงความจริงใจ
 
ถ้าเป็นแบบนั้น เมื่อย้อนกลับไปคิดถึงคำพูดของย่าเมื่อสมัยเด็กๆ หากความจริงใจสะท้อนออกมาจากคำพูด และการพูดคำหยาบคือการทำความอัปมงคลให้กับชีวิต แล้วจิตใจของคนที่พูดคำหยาบเป็นกิจวัตรนั้นจะมีความจริงใจแบบไหน?
 
คนที่ใช้คำพูดกดหัวคน จิกเรียกคนที่ตนบอกว่าเป็นเพื่อน เป็นคนรักด้วยคำที่ใช้จิกเรียกขี้ข้าในสมัยก่อนนั้นมี "ความจริงใจ" ต่อคนที่พูดด้วยอย่างไร?
 
หรือบางทียุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้เปลี่ยนเอาความเชื่อ ความคิด และตรรกะของคนรุ่นก่อนไปหมดแล้ว
 
แต่จะบอกว่าคำหยาบเป็นที่ยอมรับก็คงไม่ใช่ เพราะยังมีหลายคนและหลายที่ที่ไม่นิยมชมชื่นการพูดคำหยาบที่ออกจะเกินความพอ ดีของคนสมัยนี้ แต่การกั้น กรอง กัน หรือแม้กระทั่งกลั่น แทนที่จะทำให้การใช้คำหายแบบผิดที่ผิดทางลดลง กลับทำให้เกิดคำใหม่ๆที่เป็นการพลิกแพลงเพื่อหลบหนีการกลั่นกรองนั้น
 
เข้าทำนองเอาอาจมมาห่มผ้า เอาถือไปถือมาคนก็ไม่รู้ว่าเป็นอาจม
 
ก็แปลกดีกับความพยายามที่จะลื่นไหลไปกับคำผิดๆ แทนที่จะพยายามใช้คำที่ถูกที่ดีและไม่มีใครต้องแสลงหู
 
ที่เขียนมานี่ไม่ใช่จะยกตัวว่าตัวเองเป็นมนุษย์วิเศษไม่เคยพูดคำหยาบ ออกตัวไปแล้วว่าพูดเหมือนกันเวลาเผลอ แต่ต้องคอยกำกับสติไม่ให้เผลอบ่อยนัก เพราะเผลอทีไรเป็นต้องคิดถึงคำสอนของย่า
 
"ผู้ชายเขามีธาตุหยาบจะพูดคำหยาบก็ปล่อยเขา แต่ผู้หญิงเรามีธาตุละเอียด มีความอ่อนโยน อย่าเอาของหยาบมาใส่ตัว ผู้หญิงหน้าตาสวย ชาติตระกูลดี มีการศึกษา แต่พอพูดคำหยาบออกมาก็ไม่ต่างจากพวกผู้หญิงอย่างว่า หมดราคาทันที"
 
และก็พาลนึำกไปถึงสุภาษิตสอนหญิงด้วยว่า
 
จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น
อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู
ไม่ควรพูดอื้ออึงขึ้นมึงกู
คนจะหลู่ล่วงลามไม่ขามใจ

Repost from: http://deppdeppfan.exteen.com/20111129/entry

Comments

Popular posts from this blog

หน่วยกิตนั้น สำคัญไฉน?

บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเสียงบ่นของเด็กหลายคนที่โอดครวญว่า "งานเยอะ" บ้าง "ทำไม่ทัน" บ้าง และ "อาจารย์สั่งงานมากกว่าหน่วยกิต" บ้าง ทำให้คิดขึ้นมาได้ถึงเรื่องของตัวเลขที่ปรากฏท้ายชื่อรายวิชาที่เรียกว่า "หน่วยกิต" ว่ามีผลต่อการเรียนการสอนอย่างไร "หน่วยกิต" เป็นการให้ค่าน้ำหนักแก่รายวิชาต่างๆ เช่น วิชาที่มีจำนวนหน่วยกิตมาก ก็(มีแนวโน้ม)จะมีเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน การบ้าน การคิดคะแนน ที่เข้มข้นมาก วิชาที่หน่วยกิตน้อย ก็อาจจะมีเนื้อหาน้อยกว่า การบ้านน้อยกว่า มีการประเมินผลง่ายกว่า (นึกถึงตอนเรียนมัธยม วิชาพละมีหน่วยกิต 0.5 - 1 นก. จะเรียนสัปดาห์ละ 1-2 ชั่วโมง แล้วแต่โรงเรียน เรียนง่าย ไม่ต้องท่องจำเนื้อหา สอบชิล (เหรอ???) ส่วนวิชาเลขที่มี 2.5 นก. จะเรียนสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง การบ้านเพียบ สอบที่ก็อ่านหนังสือกันแทบอ้วก) การกำหนดหน่วยกิตของการศึกษาระดับประถมหรือมัธยมจะกำหนดตามหลักสูตรการศึกษาโดยยึดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของแต่ละหลักสูตรเป็นตัวกำหนด โดยแต่ละโรงเรียนก็อาจจะกำหนดค่าหน่วยกิตของวิชาต่างๆแตกต่างกันแล้วแต่ว่าโรงเรียนนั้

มานยากตรงหนายกะกานชั้ยพาสาไทยหั้ยถูกต้อง??

ครั้งหนึ่ง เคยได้จัดเสวนาเรื่องภาษาไทย-ภาษาวัยรุ่น เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติที่โรงเรียน...ที่ต้องบอกว่าครั้งหนึ่ง เพราะตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนแล้วยังจำได้ถึงประเด็นที่พูดถึงเรื่องภาษาไทยปกติ (ไม่อยากใช้คำว่าถูกต้อง หรือแบบแผน) กับภาษาไทยที่ใช้กันในอินเตอร์เนต หรือภาษาวัยรุ่น หรือภาษาแชทอะไรทำนองนั้น ว่าเพราะอะไรเราถึงเขียน(หรือพิมพ์)ให้ถูกต้องไม่ได้ ทำไมต้อง ช้าน ร้าก เทอ ทำไมไม่เป็น ฉันรักเธอ หรือชั้นรักเธอ โอเคถ้าเราจะมองว่ามันเป็นการเขียนแบบสื่ออารมณ์ คือถ้าเขียนแบบปกติมันจะไม่ได้อารมณ์ ไม่ได้"ฟีล" ในการสื่อความหมาย อีกอย่างเวลาอ่านคำที่เขียนแบบนั้น มันก็ฟังเป็นภาษาพูด ดูเป็นธรรมชาติดีออก ก็ใช่....อันนี้ยอมรับ เพราะตัวเองก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน อีกอย่างที่เด็กๆ(ของเรา)บอกกันก็คือ มันสะดวกในการพิมพ์มากกว่าการสะกดอย่างถูกต้อง เมื่อต้องแชท หรือตอบข้อความที่ใช้ความเร็วในการพิมพ์ ขืนมานั่งสะกดให้ถูกพอดีไม่ทันกิน เพื่อนมันพูด(พิมพ์)ไปถึงไหนต่อไหนแล้ว อันนี้คล้ายๆจะเกือบเห็นด้วย แต่ก็ยังสงสัย ฟังจากข้อ(อ้าง)ที่ลูกๆบอกมา สามารถตีความได้ว่า 1. (มรึง---