Skip to main content

หน่วยกิตนั้น สำคัญไฉน?

บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเสียงบ่นของเด็กหลายคนที่โอดครวญว่า "งานเยอะ" บ้าง "ทำไม่ทัน" บ้าง และ "อาจารย์สั่งงานมากกว่าหน่วยกิต" บ้าง ทำให้คิดขึ้นมาได้ถึงเรื่องของตัวเลขที่ปรากฏท้ายชื่อรายวิชาที่เรียกว่า "หน่วยกิต" ว่ามีผลต่อการเรียนการสอนอย่างไร

"หน่วยกิต" เป็นการให้ค่าน้ำหนักแก่รายวิชาต่างๆ เช่น วิชาที่มีจำนวนหน่วยกิตมาก ก็(มีแนวโน้ม)จะมีเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน การบ้าน การคิดคะแนน ที่เข้มข้นมาก วิชาที่หน่วยกิตน้อย ก็อาจจะมีเนื้อหาน้อยกว่า การบ้านน้อยกว่า มีการประเมินผลง่ายกว่า (นึกถึงตอนเรียนมัธยม วิชาพละมีหน่วยกิต 0.5 - 1 นก. จะเรียนสัปดาห์ละ 1-2 ชั่วโมง แล้วแต่โรงเรียน เรียนง่าย ไม่ต้องท่องจำเนื้อหา สอบชิล (เหรอ???) ส่วนวิชาเลขที่มี 2.5 นก. จะเรียนสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง การบ้านเพียบ สอบที่ก็อ่านหนังสือกันแทบอ้วก)

การกำหนดหน่วยกิตของการศึกษาระดับประถมหรือมัธยมจะกำหนดตามหลักสูตรการศึกษาโดยยึดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของแต่ละหลักสูตรเป็นตัวกำหนด โดยแต่ละโรงเรียนก็อาจจะกำหนดค่าหน่วยกิตของวิชาต่างๆแตกต่างกันแล้วแต่ว่าโรงเรียนนั้นจะเน้นการเรียนการสอนด้านใดเป็นพิเศษ ในขณะที่การกำหนดหน่วยกิตในระดับอุดมศึกษา (ซึ่งขอเน้นเฉพาะคณะและมหาวิทยาลัยของเรา) จะกำหนดตามประเภทของรายวิชา โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ รายวิชาประเภทบรรยาย กับรายวิชาประเภทปฏิบัติ

แล้วรายวิชาทั้งสองแตกต่างกันยังไง?

รายวิชาบรรยาย จะเน้นการเรียนการสอนแบบ "บรรยาย" (ตรงไปมั้ย?) คือนักศึกษาจะเข้าฟังเลคเชอร์ จดงาน ทำการบ้าน ทำรายงาน ค้นคว้าเพิ่มเติม ฯลฯ คือเรียนแบบเน้นตัวหนังสือ อ่าน เขียน ฟัง จำ แล้วก็สอบข้อเขียนเกี่ยวกับหลักการ ทฤษฎีต่างๆ ในทางตรงกันข้าม รายวิชาปฏิบัติ จะเน้นการเรียนการสอนที่มี "แอคชั่น" มากกว่า เช่น การทดลอง การทำแล็ป การฝึกทักษะการพูด การออกกำลังกาย เป็นต้น เวลาสอบก็จะมีการสอบปฏิบัติ เก็บคะแนนจากการฝึก การทำงานจริง ไม่เน้นการท่องจำเนื้อหาหรือหลักการ บางวิชาอาจจะไม่มีการสอบข้อเขียนเลยก็ได้

โดยทั่วๆไปแล้ว รายวิชาปฏิบัติ(มักจะ)มีจำนวนชั่วโมงมากกว่ารายวิชาบรรยายในจำนวนหน่วยกิตเท่ากัน เช่น รายวิชาบรรยาย 2 หน่วยกิต เรียน 2 ชั่วโมง/สัปดาห์ รายวิชาปฏิบัติ 2 หน่วยกิตก็จะเรียน 3 ชั่วโมง/สัปดาห์ เป็นต้น การกำหนดว่าวิชาไหนเป็นบรรยายหรือปฏิบัติ ก็จะดูจากเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชานั้นๆ (จุดนี้ขอให้ทุกคนเอาประมวลรายวิชามาดูประกอบ)

ร่ายมาซะยาว กลับมาดูตัวอย่างใกล้ตัวเราดีกว่า

เทอมที่ผ่านๆมา นักศึกษาคงได้ลงทะเบียนเรียนทั้งวิชาปฏิบัติและวิชาบรรยาย แต่หลายคนที่ลงทะเบียนอาจจะไม่เคยสังเกตเลยว่า วิชาที่ตัวเองลงทะเบียนเรียนไปนั้นเป็นรายวิชาลักษณะไหนบ้าง และสิ่งที่เราไม่เคยสังเกตนี่แหละที่มีผลต่อวิีธีการเรียนของเรา

ก่อนอื่นก็ต้องรู้ก่อนว่าวิชาไหนเป็นบรรยาย วิชาไหนเป็นปฏิบัติ

ดูง่ายๆเลยก็คือ ส่วนใหญ่(ย้ำว่าส่วนใหญ่ไม่ใช่ทั้งหมด) วิชาบรรยายของคณะจะเรียน 3 ชั่วโมง ส่วนวิชาปฏิบัติจะเรียน 4 ชั่วโมง

ยกตัวอย่างเช่น วิชาการเขียนในสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นวิชาปฏิบัติ  เรียนสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง ส่วนวิชาแบบเรียนภาษาไทยเป็นวิชาบรรยาย เรียนสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง เป็นต้น

ทีนี้ลองสังเกตดูตัวเลขของหน่วยกิตในประมวลรายวิชา จะเห็นว่ามีตัวเลขอยู่ 4 ตัว คือ x(x-x-x) ถ้าใครเข้าใจความหมายของตัวเลขทั้ง 4 ตัวและสามารถนำไปถอดรหัสชีวิตการเรียนได้ นับว่าเป็นบุคคลผู้มีกุญแจทองคำฝังเพชรอยู่ในมือเลยทีเดียว (เวอร์มั้ย ><)

ตัวเลข 4 ตัวของหน่วยกิต หมายถึง จำนวนหน่วยกิตรวม(จำนวนชั่วโมงบรรยาย-จำนวนชั่วโมงปฏิบัติ-จำนวนชั่วโมงศึกษาด้วยตัวเอง)ต่อสัปดาห์ เช่น  วิชาการเขียนในสื่ออินเทอร์เน็ต 3(2-2-5) หมายความว่า วิชานี้มีการบรรยาย 2 ชั่วโมง ปฏิบัติ 2 ชั่วโมง และให้ผู้เรียนศึกษาด้วยตัวเองอีก 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งหมายความ(อีกที)ว่า ใน 1 สัปดาห์ นักศึกษาจะต้องฟังบรรยาย 2 ชั่วโมง ฝึกปฏิบัติ 2 ชั่วโมง และอ่านหนังสือ ทบทวนเนื้อหา ทำการบ้าน แบบฝึกหัด รายงาน ฯลฯ ที่ได้รับมอบหมายอีกประมาณ 5 ชั่วโมง จึงถือว่าเป็นการเรียนที่ครบหน่วยกิต

แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะสนใจแค่เวลาเรียนในชั้นเรียน โดยไม่ได้สนใจตัวเลขตัวสุดท้ายว่านอกจากเรียนในห้องแล้วเรายังต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วย

ตัวเลขตัวสุดท้ายนี่แหละ คือที่มาของบรรดาการบ้าน รายงาน โปรเจ็คทั้งหลายแหล่ที่เราโอดครวญกันนักหนาว่า โคตร..........เยอะ!!!

โดยปกติทั่วไป อาจารย์ประจำวิชา(ที่เป็นคน)ปกติ จะสั่งการบ้านหรือมอบหมายงานโดยประมาณเอาว่านักศึกษาจะใช้เวลาราวๆเลขตัวสุดท้ายในการทำงานแต่ละสัปดาห์  แต่บางวิชาที่อาจารย์ไม่สั่งการบ้าน นั่นหมายความว่านักศึกษาก็ต้องแบ่งเวลาประมาณ 5 - 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่ออ่านหนังสือ เข้าห้องสมุด ค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิชานั้นเอาเอง

ทีนี้มาลองดูการใช้ตัวเลขของหน่วยกิตเพื่อแบ่งเวลาในการเรียนให้มีประสิทธิภาพ

ถ้านักศึกษาลงทะเบียนเีรียน 7 รายวิชา เป็นวิชาบรรยาย[3-(3-0-6)] 4 วิชา วิชาปฏิบัติ[3(2-2-5)] 3 วิชา จำนวนหน่วยกิตรวมคือ 21 หน่วยกิต จำนวนชั่วโมงเีรียนต่อสัปดาห์คือ บรรยาย 18 ชั่วโมง ปฏิบัติ 6 ชั่วโมง และการบ้าน+รายงาน+อ่านหนังสืออีก 39 ชั่วโมง

เท่ากับว่า 1 สัปดาห์มี 168 ชั่วโมง ต้องอุทิศให้การเรียน 72 ชั่วโมง คิดเป็น 42% ของเวลาทั้งหมดใน 1สัปดาห์

ถ้านักศึกษาลงทะเบียนมากหรือน้อยกว่านี้ เวลาก็จะต่างออกไปตามจำนวนหน่วยกิตที่ลงทะเบียน ดังนั้นก่อนลงทะเบียนควรดูจำนวนหน่วยกิต แล้วลองคำนวนเล่นๆถึงเวลาที่ต้องใช้ศึกษาในแต่ละวิชาให้ดีว่า "ไหว" รึเปล่า เพราะบางคนก็ต้องทำงานพิเศษ ต้องเรียนพิเศษ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นไปอีก การวางแผนการเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่คิดแค่ว่าเรียนอะไร หรือเรียนกับใคร แต่ควรคิดด้วยว่าจะเรียน "เมื่อไหร่" และเรียน "อย่างไร" ด้วย

นี่เป็นการวางแผนการเรียนที่จะช่วยให้ผู้เรียนรู้ว่า ใน 1สัปดาห์ เราควรทำอะไรและใช้เวลาเท่าไหร่ ถ้าเราแบ่งเวลาได้แบบนี้ทุกๆสัปดาห์และทำอย่างสม่ำเสมอไปตลอดเทอม ก็จะไม่มีเสียงบ่นว่า "งานเยอะ" หรือ "ทำงานไม่ทัน" และไม่ต้อง "เผางาน" ตอนปลายเทอมจนไฟครอกตัวตายด้วย


มาถึงตรงนี้ ลองถามตัวเองว่าได้แบ่งเวลาแบบนี้สำหรับแต่ละรายวิชาหรือยัง?







Comments

Popular posts from this blog

คำหยาบ กับ "ความจริงใจ"

หมู่นี้เจอคนที่มีความคิดแปลกเยอะ วันนี้เลยได้เอนทรี่ที่เกิดขึ้นจากความตะหงิดใจเกี่ยวกับตรรกะแปลกๆของคนมาอีกหนึ่งเอนทรี่   จริงๆแล้วความคับข้องใจที่จะระบายในเอนทรี่นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ได้พบเจอมานานมาก เรียกได้ว่าพบเจอมาตลอดเวลา ตลอดชีวิตเลยก็ได้   นั่นคือการใช้ "คำหยาบ" ในชีวิตประจำวัน   จำได้ว่าสมัยเป็นเด็ก ถูกเลี้ยงและเติบโตมากับปู่ย่าตายาย ผู้สูงอายุในครอบครัวสอนไว้นักหนาว่า "เป็นลูกผู้หญิงจะพูดจะทำอะไรก็ต้องระวังกิริยามารยาท ทั้งเดินเหิน นั่งนอน และที่สำคัญก็คือการพูดให้ระวังให้หนัก"   เราไม่ใช่เด็กเรียบร้อย อยู่บ้านก็เล่นซนปีนป่ายทำข้าวของเสียหายตามประสาเด็ก หลายครั้งที่โดนขนาบเรื่องกิริยามารยาท แต่ไม่ว่าจะทำอะไร จะซนแค่ไหน พอผู้ใหญ่เอือมก็ปล่อยๆเสียบ้าง   จะมีก็เรื่องเดียวที่ผู้ใหญ่ในบ้านไม่เคยปล่อยให้ผ่านเลยก็คือ การพูดคำหยาบ   คำจำกัดความของคำหยาบในครอบครัวเรากำหนดมาตรฐานไว้สูงพอสมควร นั่นคือตั้งแต่คำว่า กู มึง ข้า แก ไอ้ ไปจนถึงคำสบถต่างๆ อย่างคำประเภท "อุบาทว์" "ชิบหาย" ... ไม่ต้องสงสัยเ

มานยากตรงหนายกะกานชั้ยพาสาไทยหั้ยถูกต้อง??

ครั้งหนึ่ง เคยได้จัดเสวนาเรื่องภาษาไทย-ภาษาวัยรุ่น เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติที่โรงเรียน...ที่ต้องบอกว่าครั้งหนึ่ง เพราะตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนแล้วยังจำได้ถึงประเด็นที่พูดถึงเรื่องภาษาไทยปกติ (ไม่อยากใช้คำว่าถูกต้อง หรือแบบแผน) กับภาษาไทยที่ใช้กันในอินเตอร์เนต หรือภาษาวัยรุ่น หรือภาษาแชทอะไรทำนองนั้น ว่าเพราะอะไรเราถึงเขียน(หรือพิมพ์)ให้ถูกต้องไม่ได้ ทำไมต้อง ช้าน ร้าก เทอ ทำไมไม่เป็น ฉันรักเธอ หรือชั้นรักเธอ โอเคถ้าเราจะมองว่ามันเป็นการเขียนแบบสื่ออารมณ์ คือถ้าเขียนแบบปกติมันจะไม่ได้อารมณ์ ไม่ได้"ฟีล" ในการสื่อความหมาย อีกอย่างเวลาอ่านคำที่เขียนแบบนั้น มันก็ฟังเป็นภาษาพูด ดูเป็นธรรมชาติดีออก ก็ใช่....อันนี้ยอมรับ เพราะตัวเองก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน อีกอย่างที่เด็กๆ(ของเรา)บอกกันก็คือ มันสะดวกในการพิมพ์มากกว่าการสะกดอย่างถูกต้อง เมื่อต้องแชท หรือตอบข้อความที่ใช้ความเร็วในการพิมพ์ ขืนมานั่งสะกดให้ถูกพอดีไม่ทันกิน เพื่อนมันพูด(พิมพ์)ไปถึงไหนต่อไหนแล้ว อันนี้คล้ายๆจะเกือบเห็นด้วย แต่ก็ยังสงสัย ฟังจากข้อ(อ้าง)ที่ลูกๆบอกมา สามารถตีความได้ว่า 1. (มรึง---